Last updated: 22 ธ.ค. 2564 | 263 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมการขนส่งทางราง ขับเคลื่อนนโยบายปี 2565-2566 เร่งศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดสัมมนาเปิดตัว “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ R-MAP ” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคมผู้ประกอบการ และภาคประชาชนเข้าร่วม
นายพิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศหลายมิติ ซึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ให้สามารถสนับสนุนการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ และสอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเกษตรกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงคมนาคม จึงเร่งรัดผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ด้วยการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ ,ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ,จัดหาหัวรถจักร ล้อเลื่อน และการพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อให้การขนส่งทางราง กลายเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และลดต้นทุนทั้งการขนส่งสินค้าและการโดยสาร
กรมการขนส่งทางราง ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศ จึงขานรับนโยบายนี้ เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา R-MAP เชื่อมต่อโครงข่ายเดิมกับแหล่งเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และประเทศเพื่อนบ้าน ในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัด และภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินของประชาชน
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า R-Map เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในปี 2565-2566 เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาประกอบการการศึกษาโครงการ โดยมีขอบเขตการศึกษา 4 ส่วน คือ 1.การทบทวน สำรวจ รวบรวมข้อมูลผลการศึกษาและการดำเนินงานของแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ ,3.การจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผลศึกษาครบถ้วน สมบูรณ์ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ