เดินทางไร้รอยต่อ

Last updated: 23 ธ.ค. 2564  |  207 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เดินทางไร้รอยต่อ

การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น รัฐบาลจําเป็นต้องวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออํานวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเดินทางและการขนส่ง เชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก

ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการขนส่งและเดินทางอย่างกระทรวงคมนาคม จึงจําเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์
เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศรองรับความต้องการในการเดินทางและการขนส่งในอนาคต ให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ แบบบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคและประเทศ เพื่อให้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ และเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปจัดทําแผนงาน โครงการ ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

และถ้าพูดถึงการขนส่งและการเดินทาง ระบบรางถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำและขนทั้งคนละสินค้าได้จำนวนมาก ดังนั้น กรมการขนส่งทางราง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นการขนส่งระบบหลักของประเทศ กรม การขนส่งทางราง ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ R-MAP

ทั้งนี้ เพื่อทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ เพื่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายเดิมกับแหล่งเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค

รวมถึงการพัฒนาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินของประชาชน

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า โครงการ R-map เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในปี 2565-2566 ด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางรางเพื่อบูรณาการ โครงข่ายระบบรางสร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะนำไปจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการบูรณาการร่วมกับการขนส่งระบบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในภาพรวมของประเทศ

และล่าสุด กรมการขนส่งทางรางได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการการศึกษาโครงการ โดยมีขอบเขตการศึกษา 4 ส่วน ประกอบด้วย การทบทวนสำรวจรวบรวมข้อมูลผลการศึกษาและการดำเนินงานของแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ, การจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ดำเนินการศึกษาดังกล่าวเกิดความครบถ้วน สมบูรณ์ และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันว่ากระทรวงคมนาคมในฐานะต้นสังกัดจะผลักดันการพัฒนาโครงสร้างระบบราง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นถนน น้ำ หรืออากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและการเดินทางอย่างไร้รอยต่อออกมาสมบูรณ์เหมือนดังที่คาดหวังไว้ หรือจะขรุขระ ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้