Last updated: 26 ก.ย. 2565 | 940 จำนวนผู้เข้าชม |
“กรมราง” เปิดระดมความคิดเห็น แจ้งเกิดรถไฟสายใหม่ “จัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย” ฉบับ R-map พัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมลาว-เวียดนาม-จีน ฉิว ชงผุดรถไฟเชื่อม “อุดรฯ-หนองบัวลำภู” 100 กม.
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-map) พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูว่า จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวสูง แต่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองหลักน้อย ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ต่ำเมื่อเทียบกับจังหวัดข้างเคียงอย่างจังหวัดอุดรธานีที่ GPP อยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้พื้นที่จังหวัดข้างเคียงมีศักยภาพ GPP เฉลี่ยใกล้เคียงกัน จากการพัฒนาการเชื่อมต่อด้านการคมนาคม และการท่องเที่ยว
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จ.หนองบัวลำภู อยู่ในระยะการเข้าถึงท่าอากาศยานของจังหวัดข้างเคียง 2 จังหวัดคือ จ.อุดรธานี และจังหวัดเลย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึงการเชื่อมโยงด้านอื่น เช่น การพัฒนาถนนทางหลวงหมายเลข 210 ที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณาถึงการพัฒนาระบบรางที่เชื่อมต่อถึง จ.หนองบัวลำภู เพิ่มเติม รวมถึงจากแผนการพัฒนาพื้นที่พืชสวนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2569-2570) และศักยภาพของนิคมอุสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ซึ่ง จ.หนองบัวลำภู สามารถดำเนินการพัฒนา และเติบโตควบคู่กันไปได้
ด้าน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า จ.หนองบัวลำภู อยู่ใกล้กับแนวเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยสามารถวางแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟต่อไปยังจุดผ่านแดนถาวร สะพานมิตรภาพน้ำเหือง อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งเป็นด่านพรมแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4 ของสปป.ลาว ในแขวงไชยบุรี โดยสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองแก่นท้าว และเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นประตูการค้า และการท่องเที่ยว สปป.ลาว รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม และจีนได้ด้วย
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า เส้นทางรถไฟสายใหม่ จัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย มีระยะทาง 333 กิโลเมตร (กม.) พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด เริ่มต้นที่ สถานีจัตุรัส จ.ชัยภูมิ ผ่าน จ.ขอนแก่น จ.หนองบัวลำภู และสถานีเมืองเลย จ.เลย เป็นสถานีปลายทาง อย่างไรก็ตามในเวทีสัมมนาครั้งนี้มีข้อเสนอให้เชื่อมเส้นทางรถไฟสายใหม่จาก จ.อุดรธานี ถึง จ.หนองบัวลำภู เนื่องจากเป็นระยะทางที่สั้นประมาณ 100 กม. ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ จ.หนองบัวลำภู มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง สามารถดำเนินการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชื่อมต่อจาก จ.อุดรธานี และเป็นประโยชน์ต่อในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของจังหวัดได้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดต่อไป
ด้าน นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีประชากร 509,000 คน เนื้อที่ประมาณ 3,800 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2.4 ล้านไร่ อาชีพหลักของชาวจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอาชีพเกษตรกรรม เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านภูมิปัญญา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และธรรมมะ สำหรับเส้นทางคมนาคมการพัฒนาการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งของ จ.หนองบัวลำภู มีแค่การขนส่งทางถนนจากทางหลวงหมายเลข 210 เป็นเส้นทางหลักถึง จ.อุดรธานี ส่งผลให้มีการเสนอแผนให้เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจาก จ.อุดรธานี ถึง จ.หนองบัวลำภู เพื่อเป็นโอกาสการเชื่อมโยงการคมนาคมของ จ.หนองบัวลำภู ต่อไป